รายละเอียดวิชา

การออกแบบเครื่องแต่งกาย
1.         เพื่อป้องกันตัวเองจากภัยธรรมชาติ เช่น ภัยจากสภาพอากาศหนาว ร้อน หรือภัยจากแมลงต่าง ๆ
2.         เพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายในโอกาสต่าง ๆ เหมาะกับคนทำงานในอาชีพต่าง ๆ เช่น นักดับเพลิง นักบิน วิศวกร
3.         เพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู โดยเฉพาะศัตรูที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน เช่นการสวมเสื้อเกราะกันกระสุน หมวกเหล็ก
4.         การต้องการความสุภาพ ทั้งนี้ ขึ้นกับเวลา สถานที่และบุคคล การยอมรับความสุภาพของสถานที่หนึ่งอาจแตกต่างจากสถานที่หนึ่งก็เป็นได้
5.         เพื่อตกแต่งร่างกายและดึงดูดความสนใจ อาจเป็นการประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับที่บอกฐานะ ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชย์ เป็นต้น
6.         สถานภาพทางสังคม เช่นชุดที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงาน ตำแหน่งที่ได้รับ
7.         การแสดงออกทางพิธีการ งานต่าง ๆ ที่กำหนดให้ใส่เสื้อผ้าที่มีความเจาะจง เช่นงานศพ งานสโมสรสันนิบาต
8.         การแบ่งแยกจากกลุ่ม มักเกิดกับวัยรุ่นหรือความต้องการความแตกต่างกันระหว่างองค์กร เช่น เสื้อ blazers ที่สวมเพื่อบอกสถาบันที่สังกัดอยู่ของนักเรียน ชุดของพระในศาสนาคริสต์ที่มีนิกายแตกต่างกัน ชุดนักเรียน เครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ของสถาบัน หมวกของพยาบาล
9.         การดึงดูดความสนใจเพศตรงข้าม
10.      เพื่อความพึงพอใจของตนเอง
11.      สภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม

สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติพัฒนาไปอย่างมากมาย ยิ่งวิวัฒนาการมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งมีผลต่อมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น อิทธิพลของเสื้อผ้าและการประดับตกแต่งร่างกายสามารถได้มาทั้งจากธรรมชาติ การติดต่อค้าขาย การคมนาคม ซึ่งมีผลต่อมนุษย์ในการพัฒนาหรือปรับปรุงเครื่องแต่งกายของตนเองให้ดีขึ้น การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ศาสนาและสังคมก็มีส่วนเป็นอย่างมากในการกำหนดการแต่งกายของมนุษย์




อิทธิพลของเครื่องแต่งกายต่อมนุษย์


            อิทธิพลทางวัฒนธรรม

            วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ใช้ในการศึกษาเรียนรู้ความเป็นไปและสังคมที่บุคคลดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต งานอดิเรก ศิลปะ ความเชื่อ ความรู้ ความชำนาญ จริยธรรม ฯลฯ  เสือผ้าที่สวมใส่จะขึ้นอยู่กับการสืบทอดต่อ ๆ กันมา  อาจจะเกิดจากการผสมผสานระหว่างอิทธิพลทางวัฒนธรรมและนำมาประยุกต์ใช้หรือเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างมั่นคงในสังคม โครงร่างของเสื้อผ้ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละยุคของประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาซึ่งอาจจะแตกต่างกันนับร้อยปีในแต่ละยุค แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการขนส่งและธุรกิจก็ทำให้ย่นระยะเวลาที่ห่างกันให้สั้นลงได้

            เสื้อผ้าได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมทางกาย ทรัพยากรทางธรรมชาติ และความสามารถในการนำทรัพยากรต่าง ๆ ไปใช้  ในหลาย ๆ สังคมได้พัฒนาแนวทางการนำทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอมาใช้ในการออกแบบเครื่องแต่งกายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ประเพณีและขนบธรรมเนียม
ประเพณีและขนบธรรมเนียมเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในชีวิตประจำวันของผู้คนที่หยั่งรากลึกจนกลายเป็นความเคยชินและเป็นประเพณี ในกรณีของการแต่งกายก็เช่นเดียวกัน บางสังคมมีการแต่งกายที่สืบทอดเป็นวัฒนธรรมที่ยาวนาน เช่น การสวมชุดส่าหรีของสตรีชาวอินเดีย

คุณค่าทางสังคม
ลักษณะที่แตกต่างและความมีเอกลักษณ์ในแต่ละสังคมทำให้การสวมเสื้อผ้าของมนุษย์มีความแตกต่างกันไป การยอมรับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสังคมหนึ่งอาจแตกต่างไปจากสังคมหนึ่งก็ได้ โดยคุณค่านี้อาจมาจากพื้นฐานที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ครอบครัว การเลี้ยงดู วิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน การศึกษาและกลุ่มคนที่คบค้าสมาคมอยู่ รวมไปถึงยุคสมัยที่แตกต่างกันก็ทำให้แนวความคิดเรื่องคุณค่าของการแต่งกายแตกต่างกันได้

ปัจจัยทางสังคมจิตวิทยา
เสื้อผ้าที่สวมใส่ทำให้คนแต่ละคนมีความรู้สึกแตกต่างกันไปในการแต่งกายแต่ละครั้ง รวมไปถึงความคิดที่บุคคลภายนอกมองมายังตนเองก็แตกต่างกันด้วย รูปแบบของเครื่องแต่งกาย ขนาด สีสัน รูปร่างทำให้ภาพลักษณ์ของบุคคลแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งที่มีการสวมใส่เครื่องแต่งกายที่แตกต่างกัน
สัญลักษณ์ของเครื่องแต่งกาย
การปรากฏตัวในแต่ละครั้งด้วยเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกันทำให้ภาพลักษณ์ของบุคคลดูแตกต่างกันไปได้ทั้งใน เนื่องจากลักษณะของเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกัน รูปแบบบางอย่างของเครื่องแต่งกายทำให้สังคมคาดหวังว่าบุคคลผู้สวมใส่มีลักษณะเป็นเช่นไร อายุเท่าไร หรือมีอาชีพอะไร

การแบ่งแยกชนชั้นหรือแบ่งแยกกลุ่ม
เพื่อต้องการให้ดูแตกต่างจากกลุ่มชนอื่น มนุษย์พยายามหาวิธีที่จะทำให้กลุ่มของตนดูแตกต่างไปจากกลุ่มอื่นเพื่อให้รับรู้ถึงลักษณะประจำกลุ่มของตนเอง ง่ายในการจดจำและแยกแยะความแตกต่าง

ความสบายและลักษณะเฉพาะที่ต้องการ
เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นมนุษย์เลือกสวมเสื้อที่มีความหนานุ่มในฤดูหนาว และในฤดูร้อนก็สวมใส่เสื้อผ้าที่บางเบาขึ้นเพื่อความสบาย

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและแฟชั่น
เป็นเหตุผลที่ทำให้เครื่องแต่งกายมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมอาจมาจากแนวความคิด ความเชื่อ เหตุการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ การพบเห็นแฟชั่นจากแหล่งอื่น ทำให้แนวความคิดในการแต่งกายเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน


            บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของคนแต่ละคนบุคลิกภาพของแต่ละคนมีผลต่อการแต่งกาย ทำให้บุคคลแสดงออกในเรื่องการแต่งกายแตกต่างกัน บุคลิกภาพโดยทั่วไปของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เกิดจากความต้องการสร้างความประทับใจให้ปรากฏต่อผู้ที่พบเห็น แต่ความประทับใจนี้ไม่ได้มั่นคง ยาวนานหรือน่าเชื่อถือได้เสมอไป เช่น บุคคลที่มีบารมี มีท่าทางน่ายกย่อง เกรงขามในช่วงเวลาหนึ่ง อาจไม่ได้รับความเชื่อถือในเวลาต่อมาก็เป็นได้ เช่น พวกนักการเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ ความคิดของคนเราที่มีต่อบุคคลอื่น ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บุคลิกภาพที่แสดงออกอาจไม่ใช่บุคลิกภาพที่แท้จริงของบุคคลนั้นเสมอไป นอกจากนี้ คนส่วนมากต้องการแสดงออกถึงบุคลิกภาพที่ดีของตนเองต่อผู้อื่น เพื่อสร้างความประทับใจต่อเพื่อนและผู้คุ้นเคย
            การแต่งกายช่วยให้สามารถแสดงออกถึงบทบาทของตนเองในสังคมและบุคลิกภาพได้ ดังนี้
1.         เครื่องแต่งกายและบุคลิกภาพที่ดึงดูดความสนใจ สามารถสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบได้
2.         เครื่องแต่งกายสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือที่ต้องการให้กับผู้สวมใส่ได้          
3.         การใช้เครื่องแต่งกายเพื่อสร้างภาพลักษณ์สามารถใช้ได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับ อายุ โอกาส การงาน ฯลฯ เช่น วัยรุ่นอาจสวมชุดนักเรียนในตอนกลางวันและเปลี่ยนเป็นชุดลำลองเพื่อสังสรรค์กับเพื่อนในตอนเย็น
4.         เครื่องแต่งกายควรมีส่วนช่วยส่งเสริมและสร้างบุคลิกภาพที่ดีให้กับผู้สวมใส่
5.         โครงสร้างของกระดูก รูปร่างหน้าตาและผิวพรรณ เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของคนเราซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่สามารถควบคุมน้ำหนัก แก้ไขกิริยาท่าทาง และเลือกเครื่องแต่งกายและสีสันที่ช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของร่างกายได้
ลักษณะบุคลิกภาพ
            มีความพยายามมากมายในการแบ่งแยกลักษณะบุคลิกภาพของคนออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น การแบ่งลักษณะบุคลิกภาพออกเป็นลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
-                    เฉลียวฉลาด คล่องแคล่ว (Ingénue)
-                    ช่ำชองต่อโลก มีเล่ห์เหลี่ยม (Sophisticated)
-                    มีอารมณ์อ่อนหวาน โรแมนติก (Romantic)
-                    เพ้อฝัน มีจินตนาการ (Dramatic)
-                    แข็งแรง ปราดเปรียว ดูเป็นนักกีฬา (Athletic)
            ลักษณะของบุคลิกต่าง ๆ เหล่านี้ มักใช้ในการแบ่งแยกกลุ่มของเครื่องแต่งกายด้วย แต่ก็เป็นลักษณะของบุคลิกภาพในอุดมคติมากกว่าที่จะเป็นบุคลิกภาพของคนจริง ๆ โดยทั่วไป บางครั้งการจำแนกบุคลิกภาพของคนเพื่อใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับการแต่งกายและบุคลิกภาพจึงนิยมแบ่งในลักษณะที่เรียกว่า Yang-yin หรือลักษณะของความเป็นชาย-หญิง มากกว่า
            ลักษณะของ Yang type เป็นบุคลิกที่แสดงออกถึงพลังที่เหนือมนุษย์ ความก้าวร้าว รุนแรง และลักษณะของเพศชาย มีความคิดความสนใจเกี่ยวความเป็นไปรอบตัว มีชีวิตชีวา ชอบแหกกฎ และเป็นผู้นำ ชอบเสื้อผ้าที่มีสีสันจัดจ้านหรือสีในโทนร้อน
            ลักษณะของ Yin type แสดงออกถึงพลังของผืนดิน ความเป็นหญิง ความอ่อนน้อม สนใจตนเองมากกว่าคนรอบข้าง เก็บตัว อ่อนไหว ขี้อาย มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ตามมากกว่า ชอบสวมเสื้อผ้าที่มีสีในโทนเย็น สีธรรมชาติ
            การจำแนกลักษณะบุคลิกภาพรูปแบบอื่น ๆ ที่ใช้ในการศึกษาลักษณะการแต่งกายนิยมใช้เกณฑ์การจำแนกของ Eduard Spranger ซึ่งแบ่งลักษณะบุคลิกภาพของคนออกเป็น 6 กลุ่มดังนี้
1.       The theoretical type เป็นผู้ที่ยึดถือความถูกต้อง ความจริง มีความรู้ คงแก่เรียน เสื้อผ้าที่บุคคลเหล่านี้เลือกสวมใส่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างแท้จริง เหมาะกับอาชีพการงาน ไม่ตามแฟชั่น
2.       The economic type เป็นบุคคลที่รู้จักใช้จ่ายเงินและเวลาอย่างคุ้มค่าที่สุด คนเหล่านี้จะจัดการเกี่ยวเสื้อผ้าของตนเองอย่างมีระเบียบ แบบแผน วางแผนการใช้จ่ายเงินทองเพื่อซื้อเสื้อผ้าอย่างรอบคอบ
3.       The aesthetic type คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการออกแบบ การแสดงออก และความสวยงาม เสื้อผ้าที่เลือกสวมใส่จึงต้องมีความโก้เก๋ และทันสมัย
4.       The social type เป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญกับบุคคลอื่น การแต่งกายจึงมักหลีกเลี่ยงเครื่องแต่งกายที่สังคมไม่ยอมรับ
5.       The political type เป้าหมายของบุคคลในกลุ่มนี้คือการทำให้ผู้คนประทับใจและแสวงหาอำนาจ การเลือกเครื่องแต่งกายจะเลือกที่สามารถนำตนเองก้าวเข้าไปในสังคมหรือเป็นที่ดึงดูดความสนใจของผู้คน
6.       The religious-philosophical type เป็นกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอุดมคติและความเรียบง่าย เสื้อผ้าที่คนเหล่านี้เลือกเน้นที่ความสบาย ไม่หรูหรา ไม่ใช่เพื่อสร้างความสุขที่เกิดจากการแต่งกายแต่เพื่อความเรียบง่ายของการดำเนินชีวิต
            นอกจากบุคลิกภาพดังกล่าวข้างต้น ยังมีลักษณะของบุคคลในรูปแบบอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเลือกเครื่องแต่งกาย และมีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพของคนเรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเครื่องแต่งกายสามารถบ่งบอกสภาวะจิตใจ สุขภาพและทัศนคติของผู้สวมใส่ที่มีต่อสังคมได้
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพกับการแต่งกาย
-          ความสัมพันธ์ในด้านสังคม (Sociological) คือภาพลักษณ์ที่บุคคลอื่นมองตนเองเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าชุดนั้น
-          ความสัมพันธ์ในด้านจิตวิทยา (Psychological) คือสิ่งที่บุคคลต้องการให้ผู้อื่นคิดเกี่ยวกับตนเองเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าชุดนั้น
บุคลิกภาพและการสร้างความประทับใจ
            ปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นคือ รูปลักษณ์ภายนอก กิริยามารยาท และการสนทนาโต้ตอบกับบุคคลอื่น
            รูปลักษณ์ภายนอกหรือภาพลักษณ์ (Appearance)
            รูปลักษณ์ภายนอกเป็นสิ่งแรกที่ผู้คนสังเกตเห็นในบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา สีผม ทรงผม เครื่องแต่งกาย กิริยามารยาทการแสดงออกและน้ำเสียงขณะพูด เครื่องแต่งกายอาจเป็นสิ่งแรกที่สร้างความประทับใจในการพบกัน แต่เมื่อสนิทสนมคุ้นเคยเสื้อผ้าก็มีความสำคัญน้อยลงและบุคลิกของคนเราจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
            ลักษณะนิสัยและกิริยามารยาท (Mannerisms and manners)
            ผู้ที่มีกิริยามารยาท หรือการแสดงออกที่ดีจะสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบได้เสมอ การฝึกให้เป็นผู้มีการแสดงออกที่เหมาะสมสามารถทำได้ โดยการสังเกตกิริยาที่เราแสดงออกเป็นประจำและเตือนตัวเองให้มีความเคยชินกับกิริยาที่ดี ตัวอย่างการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรกระทำ เช่น การพูดโพล่งกลางวงสนทนาของบุคคลอื่น การนินทา โกหก ขี้บ่น ดื้อรั้น โอ้อวด ชอบบงการ เป็นต้น นอกจากนี้ การแสดงออกต่าง ๆ ที่จะทำให้เสียบุคลิกภาพ เช่น การกัดเล็บเมื่อรู้สึกไม่มั่นใจ การแสดงออกถึงความขัดเขินมากจนเกินไป การโบกมือไปมาเวลาพูด แต่การแสดงออกถึงกิริยามารยาทที่มากเกินไปก็อาจทำให้ดูไม่จริงใจหรือเสแสร้างได้
            น้ำเสียงและคำพูด (Voice and conversation)
            น้ำเสียงและคำพูดเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ ความแตกต่างของวัฒนธรรม ถิ่นที่อยู่ทำให้คนเรามีสำเนียง และภาษาที่แตกต่างกันได้ ในการสนทนากับบุคคลที่มีความแตกต่างกันควรใช้ภาษาที่มีความเป็นกลาง สื่อความหมายที่เข้าใจตรงกัน ไม่ควรใช้คำแสลงที่ทำให้ผู้อื่นสับสน คำพูดหยาบคาย คำพูดที่ดูถูก ดูหมิ่นผู้อื่น  คำส่อเสียด ก้าวร้าว และไม่ควรพูดด้วยน้ำเสียงรุนแรง ฟังแล้วก้าวร้าว หลีกเลี่ยงการพูดเรื่องตนเองมากเกินไป เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี
ปัจจัยที่มีผลต่อบุคลิกภาพ
            เชื้อชาติ วัฒนธรรม ครอบครัว เพื่อนและการติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่นมีผลต่อบุคลิกภาพของคนเรา นอกจากนี้พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมก็มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพเช่นเดียวกัน
            ลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Heredity)
            พันธุกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรูปร่างภายนอกของคนเราซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความเป็นตัวตนของตนเอง เรียนรู้ที่จะอำพรางข้อด้อยของร่างกายและเสริมส่วนดีให้ดูโดดเด่น ลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ สังเกตได้จากสีผม สีผิว โครงสร้างของร่างกาย เป็นต้น เครื่องแต่งกายสามารถเสริมสร้างให้คนที่มีความแตกต่างกันดูโดดเด่นได้ไม่น้อยหน้ากัน
            สิ่งแวดล้อม (Environment)
            สิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลิกภาพของคนเรามาตั้งแต่เกิด การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบตัวสามารถทำให้บุคลิกภาพของคนเราเปลี่ยนแปลงไปได้ คนแต่ละช่วงวัยมีความต้องการที่แตกต่างกัน นักจิตวิทยาและจิตแพทย์เชื่อว่าเครื่องแต่งกายสามารถที่ส่วนช่วยให้คนในแต่ละช่วงวัยปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาวะของตนเองได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น